มาทำความรู้จักกับเครื่องแต่งกาย โขน กันนะค๊ะ
ประวัติเครื่องแต่งกายโขน
เครื่องแต่งกายโขนนั้น ท่านผู้รู้เล่าว่าแต่เดิมได้มาจากเครื่องแต่งกายของผู้เล่นชักนาคดึกดำบรรพ์ ในพระราชพิธีอินทราภิเษก การเล่นชักนาคดึกดำบรรพ์ในพระราชพิธีอินทราภิเษกคือ การเล่นกวนน้ำอมฤต พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระราชนิพนธ์เล่าเรื่องกวนน้ำอมฤตไว้เป็นเรื่องย่อ ๆ ในหนังสือ "บ่อเกิดแห่งรามเกียรติ์" ว่า
"เทวดาและอสูรอยากจะใคร่อยู่คง พ้นจากความตาย จึงชวนกันกวนเกษียรสมุทรทำน้ำอมฤต เอาเขามนทรคีรีเป็นไม้กวน เอาพญาวาสุกรีเป็นเชือก พญาวาสุกรีพ่นพิษเป็นไฟพากันได้ความเดือดร้อน พระนารายณ์เชิญให้พระอิศวรเสวยพิษเพื่อดับความร้อน พระอิศวรก็เสวยพิษเข้าไป (พระศอจึงเป็นสีนิลเพราะพิษไหม้) เทวดาและอสูรชักเขามนทรคีรีหมุนกวนไปอีก จนเขาทะลุลงไปใต้โลก พระนารายณ์จึงอวตารเป็นเต่าไปรองรับเขามนทรคีรีไว้มิให้ทะลุเลยไปได้อีก การกวนจึงกระทำต่อไปได้สะดวก เทวดากับอสูรทำสงครามกันชิงน้ำอมฤต พระนารายณ์ฉวยน้ำอมฤตไปเสียพ้นจากฝั่งเกษียรสมุทรแล้ว พวกอสูรมิได้มีโอกาสกินน้ำอมฤตก็ตายในที่รบเป็นอันมาก เทวดาจึงได้เป็นใหญ่ในสวรรค์"
การเล่นชักนาคดึกดำบรรพ์ จะต้องสร้างรูปจำลองภูเขามนครีรที่สนามกลางแจ้ง ทำตัวพญานาคพันรอบ ๆ ภูเขานั้น แล้วมีผู้แต่งกายเป็นอสูร เทวดา พาลี สุครีพ วานรบริวาร ตลอดจนเทพเจ้าต่าง ๆ เช่น พระอิศวร พระนารายณ์ พระอินทร์ เป็นต้น การแต่งกายของผู้ที่เล่นชักนาคดึกดำบรรพ์นี่เอง ที่ผู้แสดงโขนนำมาใช้เป็นเครื่องแต่งกายในเวลาแสดงโขน
ส่วนการแต่งกายของผู้แสดงละครในสมัยโบราณ ปรากฎตามหลักฐานว่าแต่งอย่างคนสามัญ แต่จัดแต่งให้รัดกุมขึ้นเพื่อทำบทได้สะดวก สำหรับเรื่องตัวละครแต่งกายแบบสามัญชนนี้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเล่าว่า ละครพม่าที่เมืองร่างกุ้งที่พระองค์เคยเสด็จไปทอดพระเนตรก็แต่งกายเป็นคนสามัญ ไม่ได้ใช้เครื่องแต่งตัวแปลกกว่าปกติแต่อย่างใด ละครไทยในสมัยโบราณแต่งตัวเป็นแบบคนธรรมดาดังกล่าวแล้ว นอกจากเวลาจะทำบทเป็นผู้หญิงก็ห่มผ้าสไบเฉียง หรือถ้าจะให้ทราบว่าเป็นยักษ์ลิงก็เขียนหน้า หรือสวมหน้ากาก เครื่องแต่งกายของละครที่เรียกว่าแบบยืนเครื่องอย่างที่แสดงกันในปัจจุบันนี้เป็นของที่คิดประดิษฐ์ขึ้นภายหลัง โดยประดิษฐ์เครื่องแต่งตัวชุดนายโรงหรือตัวพระขึ้นก่อน ประกอบด้วยสนับเพลา ผ้านุ่งกรองคอ ทับทรวง สังวาล และเครื่องสวมศีรษะที่เรียกว่าเทริด การแต่งกายของตัวนายโรงไม่สวมเสื้อ ละครโรงหนึ่ง ๆ จะมีตัวละครแต่งกายแบบนี้อยู่เพียงคนเดียวคือตัวนายโรง ดังนั้นจึงเรียกตัวละครที่เป็นนายโรงว่า "ตัวยืนเครื่อง"
ต่อมาได้ประดิษฐ์เครื่องแต่งกายละครขึ้นเป็น 2 อย่าง คือ แต่งตัวยืนเครื่องหรือที่เรียกกันว่าแต่งพระอย่างหนึ่ง กับแต่งนางอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นแบบฉบับของเครื่องแต่งกายโขนละครที่ใช้สืบมาจนถึงสมัยปัจจุบัน เครื่องแต่งกายที่ประดิษฐ์ขึ้นนี้มีการแก้ไขตัวยืนเครื่องหรือตัวพระให้ผิดไปจากเดิมบ้าง กล่าวคือแต่เดิมตัวนายโรงสวมสนับเพลากรอมถึงข้อเท้า เปลี่ยนมานุ่งให้เชิงอยู่เพียงแค่น่อง ผ้านุ่งที่เคยนุ่งแบบหยักรั้งก็ลดเชิงลงมาถึงหัวเข่า และเพิ่มเครื่องแต่งกายขึ้นมาอีกอย่างหนึ่งคือ เสื้อแขนยาว ส่วนเครื่องแต่งกายตัวนางนุ่งผ้าจีบกรอมถึงน่อง และห่มผ้าแถบลายทอง สะพักสองบ่าพาดชายไว้ข้างหลัง ให้ชายผ้าเสมอน่อง การแต่งกายของตัวพระนั้นจะเป็นตัวเอกหรือตัวรองก็แต่งยืนเครื่องทั้งนั้น ผิดกันแต่เครื่องประดับศีรษะ ท้าวพญามหากษัตริย์ใส่ชฎา ตัวเสนาอำมาตย์ใช้แต่ผ้าโพกศีรษะ การแต่งกายของตัวนางก็ต่างกันที่เครื่องสวมศีรษะเช่นเดียวกัน เครื่องละครที่คิดขึ้นใหม่นี้ แต่เดิมเป็นแบบของหลวง ต่อมาพวกละครข้างนอกลอกเลียนแบบอย่างไปแต่งบ้าง เพราะปรากฎว่าในสมัยแรกตั้งกรุงรัตนโกสินทร์เจ้านายและข้าราชการที่รวบรวมผู้คนฝึกหัดโขนละครขึ้น คิดแบบอย่างสร้างเครื่องแต่งกายโขนละครคล้ายคลึงกับเครื่องต้นเครื่องทรง จึงโปรดให้ตราพระราชกำหนดห้ามพวกโขนละครแต่งกายแบบยืนเครื่องที่มีมงกุฎ ชฎา ชายไหวชายแครง กรรเจียกจร ดอกไม้ นุ่งโจงไว้หางหงส์ ต้องอย่างเครื่องต้นเครื่องทรง และทรงกำหนดให้ตัวละครแต่งแบบนุ่งผ้าตีปีก สำหรับตัวนางให้สวมรัดเกล้า แต่อย่ามีกรรเจียกจรและดอกไม้ทัด สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ ทรงมีลายพระหัตถ์ประทานหม่อมเจ้าหญิงพิไลยเลขา ดิศกุล เมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2480 ความว่า
"ยังมีอีกสิ่งหนึ่งคือ จรหู เข้าใจว่า เกี่ยวกับมงกุฎและชฎา แต่เปล่าเลย ที่แท้คือ ดอกไม้ทัดและอุบะห้อยหูเท่านั้น กนกตัวบนคือ ดอกไม้ทัด ใต้ลงมานั้นคือ พวงอุบะ เป็นดอกไม้ทัดกับอุบะ ดอกไม้ทองแล้วพวกละครยังไม่รู้โหน่เหน่ เอาดอกไม้ทัดกับอุบะดอกไม้สดแขวนแซมกับดอกไม้ทองเข้าไปอีก เห็นได้ว่าการทัดและห้อยอุบะดอกไม้สดนั้น เป็นวิธีเก่าแก่มาทีเดียว"
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้มีการประดิษฐ์เครื่องสวมศีรษะขึ้นใช้แทนผ้าโพก สำหรับตัวละครหลวงแต่งเรียกว่าปันจุเหร็จ และให้ใช้เฉพาะตัวอิเหนาตอนปลอมเป็นปันหยีและบุษบาที่ปลอมเป็นอุณากรรณ ซึ่งเป็นโจรป่าทั้งสองคน (คำว่าปันจุเหร็จ แปลว่าโจรป่า) ต่อมาจึงได้อนุญาตให้ตัวละครอื่น ๆ ใช้ปันจุเหร็ดได้ เช่น ไกรทอง และขุนแผน เป็นต้น สำหรับเครื่องประดับศีรษะสตรีที่ประดิษฐ์ขึ้นในรัชกาลนี้คือ กระบังหน้า
ครั้นถึงรัชกาลที่ 4 ได้มีผู้คิดประดิษฐ์รัดเกล้ายอดขึ้นใช้เฉพาะละครหลวง และห้ามตัวละครภายนอกนำไปใช้ จนกระทั่งรัชกาลที่ 5เสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติ จึงทรงเลิกการห้ามปรามเป็นอันว่าตัวโขนละครทั้งหลายแต่งกายกันได้ตามใจชอบ และได้มีการดัดแปลงแก้ไขเครื่องแต่งกายกันเรื่อยมา โดยเฉพาะเครื่องแต่งกายละครในสมัยที่เกิดมีละครพันทาง แสดงเรื่องของชาวต่างชาติ เช่น จีนพม่า มอญ ลาว เขมร ฯลฯ การแต่งกายของตัวละครพันทาง จะแต่งตามแบบเครื่องแต่งกายของชนชาติที่นำเรื่องมาแสดงละคร
ไว้ต่อตอนที่ 2 นะค๊ะ
ชมแล้ว [ 9062 ] 12 ส.ค. 53 21:10 โดย ammmy
Hotline : 085-507-6205