ข่าว ศิลป วัฒนธรรม (ตัวละคร)



เรามาทำความรู้จักกับ ที่มาของเครื่องแต่งกายโขนกันนะค๊ะ
พอดีทำรายงานเกี่ยวกับเรื่องนี้พอดี เรยอยากมาแนะนำให้เพือ่นๆรู้จักอะค่ะ

ประวัติเครื่องแต่งกายโขน
ตอนจากตอนที่แล้วนะค๊ะ เรื่องประวัติการแต่งกายโขนค่ะ

ได้กล่าวแล้วในตอนต้นว่า แต่เดิมเครื่องแต่งกายของตัวนายโรงหรือตัวพระนั้น มิได้สวมเสื้อ เพิ่งจะมาสวมเสื้อแขนยาวในภายหลังพร้อมการปรับปรุงเครื่องแต่งกายของตัวนาง ต่อมาการสวมเสื้อของตัวละครที่แสดงเป็นตัวพระ นิยมสวมแขนสั้น มีกนกที่ปลายแขน แต่ตัวโขนก็ยังคงสวมเสื้อแขนยาวมีอินทรธนูอยู่บนบ่าทั้งสองข้างเช่นเดิม การสวมเสื้อแขนยาวของตัวโขนนั้น นอกจากจะสวมให้ครบตามแบบของเครื่องแต่งกายยืนเครื่องพระแล้ว สีของเสื้อที่สวมยังเป็นการบ่งบอกถึงสีผิวของตัวโขนตัวนั้น ๆ อีกด้วย เช่น ทศกัณฐ์ พระราม กุมภกรรณ อินทรชิต พระอินทร์ มีผิวกายสีเขียวตามพงศ์ในเรื่องรามเกียรติ์ ก็สวมเสื้อสีเขียว ยักษ์หรือลิงที่มีผิวกายสีใดก็สวมเสื้อสีนั้น
ในสมัยรัชกาลที่ 6 ทรงปรับปรุงเสื้อของตัวโขนฝ่ายยักษ์ให้มีลำตัวสีหนึ่งและแขนอีกสีหนึ่ง มีความหมายว่าสีของแขนเสื้อคือ สีผิวของตัวโขน ส่วนสีของลำตัวคือสีเกราะที่สวมใส่ในเวลาออกศึก สีของผ้าที่ใช้ทำตัวเสื้อมักจะเป็นสีที่ตัดกับสีแขนเสื้อ เช่น ทศกัณฐ์ แขนเสื้อเป็นสีเขียวตามสีกาย ตัวเสื้อที่สมมติเป็นเกราะมักจะเป็นสีแดง หรือแขนเสื้อสีแดง ซึ่งสมมติเป็นสีผิวของยักษ์ที่มีกายสีแดง ตัวเสื้อที่เป็นเกราะก็จะใช้สีเขียว
การแสดงโขนในสมัยรัชกาลที่ 6 ตัวโขนสวมเกราะแบบที่เป็นตัวเสื้อสีหนึ่ง และแขนสีหนึ่ง ซึ่งตัวเสื้อนั้นสมมติเป็นเกราะดังที่ได้กล่าวมาแล้ว นอกจากนี้ยังมีเกราะอีกแบบหนึ่งคือ เกราะที่เป็นสายคาดรอบอก เช่น ทศกัณฐ์ตอนที่แต่งกายสวยงาม มีผ้าห้อยไหล่และถือพัดด้ามจิ๋ว ซึ่งเป็นเครื่องแต่งตัว ในตอนลงสวนจะไปเกี้ยวนางสีดาก็ยังมีเกราะคาดรอบอกอยู่ด้วย เรื่องทศกัณฐ์มีเกราะคาดรอบอกนี้ บางท่านอ้างว่าที่จริงเป็นเครื่องประดับปิดรอยงาช้างที่พระอิศวรทรงขว้างปักอกทศกัณฐ์ แล้วพระวิศวกรรมเลื่อยงาส่วนที่ยื่นออกมาในรูปแบบของเกราะรัดรอบอก ด้วยเหตุนี้เครื่องแต่งตัวทศกัณฐ์จึงต้องมีเกราะรัดรอบอกเป็นประจำ ส่วนตัวโขนอื่น ๆ มิได้เคร่งครัดในเรื่องต้องสวมเกราะแต่อย่างใด ในการแสดงโขนแต่ละครั้งไม่ว่าจะเป็นศึกภุมภกรรณ ศึกอินทรชิต หรือศึกยักษ์ต่างเมืองคือญาติสนิทมิตรสหายของทศกัณฐ์ บรรดาพญายักษ์เหล่านั้นก็มิได้สวมเกราะออกรบ เพราะถือว่าไม่มีความจำเป็น ส่วนพระรามนั้นตามเรื่องรามเกียรติ์ จะต้องสวมเกราะออกรบเป็นประจำ ทั้งนี้เพราะว่าเกราะที่พระรามสวมนั้น เป็นเกราะของพระอิศวรที่ทรงเนรมิตขึ้นเมื่อคราวเสด็จไปปราบอสูรตรีบูรำ เกี่ยวกับเกราะของพระอิศวรนี้ มีบทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชว่า
"ตรัสแล้วเอากำลังพรหเมศ ประสมเดชพระองค์อันแกล้วกล้า เป็นเกราะเพชรอลงกตรจนา ศักดาล้ำเลิศธาตรี"
หลังจากพระอิศวรปราบอสูรตรีบูรำแล้ว ก็โปรดประทานเกราะที่ทรงสวมใส่ในวันนั้นให้แก่พระอัคตะดาบส เพื่อเก็บรักษาไว้ถวายแก่พระราม เพื่อสวมใส่ไปทำสงครามกับพวกยักษ์ ความตอนนี้ในบทพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ 1 มีว่า
"เกราะแก้วนั้นมอบแก่ดาบส พระอัคตะทรงพรตฌานกล้า คอยพระหริรักษ์จักรา จะอวตารลงมาปราบยักษ์ ให้ถวายพระองค์ทรงครุฑ สำหรับกันอาวุธปรปักษ์"
ถ้าจะยึดถือตามเรื่องรามเกียรติ์บทพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 1 ดังที่ยกตัวอย่างมานี้ พระรามก็จะต้องสวมเกราะทุกครั้งที่ออกรบ แต่ในการแสดงโขน พระรามจะไม่ได้สวมเกราะออกรบ นอกจากศึกมังกรกัณฐ์เท่านั้นที่พระรามสวมเกราะออกรบ ทั้งนี้เพราะเรื่องราวในตอนนี้มังกรกัณฐ์จะต้องแผลงศรถูกเกราะของพระรามขาด ดังนั้นในการแสดงโขนชุดศึกมังกรกัณฐ์ ผู้จัดเครื่องโขนจะจัดเกราะให้ตัวพระรามแต่ง คนแต่งเครื่องที่แต่เดิมเรียกว่า "ลูกคู่" ก็จะเย็บเกราะติดรอบอกพระราม ทางด้านที่เป็นรอยต่อก็จะเย็บด้วยด้ายเพียงเส้นเดียว เพื่อจะให้ขาดออกจากกันได้ง่าย ๆ เวลาแสดงเมื่อมังกรกัณฐ์ทำท่าแผลงศรไปยังพระราม ตัวตลกก็จะถือลูกศรออกมาทำท่ารบกับพระราม แล้วแทงลูกศรไปที่เกราะพระราม พระรามก็จะช่วยให้เกราะขาดโดยสะดวก ด้วยการใช้มือดึงด้ายที่เย็บไว้ให้เกราะขาดออกจากกัน
ปัจจุบันนี้การแสดงโขนมิได้เคร่งครัดที่จะต้องให้ตัวโขนที่เป็นพญายักษ์เวลาออกรบต้องสวมเกราะ นอกจากทศกัณฐ์และพระรามในตอนรบกับมังกรกัณฐ์เท่านั้น ทั้งนี้เห็นจะเป็นเพราะผู้ประดิษฐ์เครื่องแต่งกายโขนคงจะพิจารณาเห็นว่าเกราะมิได้เป็นสิ่งจำเป็นในการที่จะต้องนำมาแต่งให้ตัวโขนทุกตัว เพราะจะทำให้ราคาจัดสร้างเครื่องแต่งตัวโขนเพิ่มขึ้นไปอีก
เครื่องแต่งกายของผู้แสดงโขน นอกจากจะเน้นที่สีเสื้อตามลักษณะสีของตัวละครตามพงศ์ในเรื่องรามเกียรติ์ว่า ทศกัณฐ์สีเขียว พระรามสีเขียว พระลักษณ์สีเหลือง แสดงอาทิตย์สีแดง ฯลฯ แล้วยังมีสีของผ้านุ่งอีกด้วย ผ้านุ่งของผู้แสดงโขนนั้น ผู้จัดเครื่องแต่งกายโขนจะจัดสีของผ้านุ่งให้ตัดกับสีเสื้อ เช่น เสื้อสีเขียวให้นุ่งผ้าสีแดง เสื้อสีแดงให้นุ่งผ้าสีเขียว เป็นต้น แต่มีตัวโขนอยู่ตัวหนึ่งที่สวมเสื้อขาวและนุ่งผ้าขาวคือ หนุมาน การแสดงโขนของคณะเอกชนทั่วไปนิยมให้หนุมานแต่งกายด้วยการนุ่งผ้าสีขาว เข้าใจว่าจะได้แลดูเป็นสีขาวไปทั้งตัว สมกับที่พงศ์ในเรื่องรามเกียรติกล่าวว่าหนุมานเป็นลิงเผือก แต่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชวิจารณ์ว่า ถ้าให้หนุมานนุ่งผ้าขาวก็เปรียบเหมือนเป็นลิงแก้ผ้า ดังนั้นจึงโปรดให้หนุมานนุ่งผ้ายกสีแดง การแสดงโขนของกรมศิลปากรก็ให้หนุมานนุ่งผ้ายกสีแดงสืบมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้ ส่วนคณะโขนเอกชนทั่วไปหลายคณะยังนิยมให้หนุมานนุ่งผ้าสีขาวอยู่ตามเดิม แต่มีบางคณะที่ปรับปรุงตามแบบอย่างของกรมศิลปากรให้หนุมานนุ่งผ้ายกสีแดง
เครื่องแต่งกายโขนละคร นอกจากเสื้อผ้าอาภรณ์แล้ว ยังมีเครื่องประดับศีรษะที่เรียกว่า "ศิราภรณ์" อีกด้วย สำหรับดขนนั้นแต่เดิมผู้แสดงเป็นยักษ์ พระ ลิง จะสวมหัวโขนปิดหน้าทั้งหมด เว้นแต่ตัวนางที่สวมศิราภรณ์คือ มงกุฎ รัดเกล้า และกระบังหน้า เมื่อโขนนำเอาศิลปะการแสดงละครในคือการร้องเพลง การจับระบำรำฟ้อนเข้ามาผสมในการแสดงโขน เกิดเป็นการแสดงโขนโรงในขึ้นมา ผู้แสดงโขนเป็นตัวพระและเทพเจ้าต่าง ๆ จึงเปลี่ยนมาสวมชฎาแทนการสวมหัวโขนตามแบบเดิม สำหรับตัวนางที่เป็นมนุษย์และนางฟ้ากำหนดให้สวมมงกุฎ ตัวนางยักษ์สวมรัดเกล้า ถ้าเป็นนางยักษ์สูงศักดิ์สวมรัดเกล้ายอด นางยักษ์ที่มีศักดิ์รองลงมาสวมรัดเกล้าเปลว นางกำนัลสวมกระบังหน้า
ส่วนการแสดงละครทั้งละครนอกและละครใน สวมเครื่องประดับศีรษะเหมือนกันคือ ผู้แสดงเป็นตัวพระสวมชฎา และปันจุเหร็จ ตัวนางที่มีศักดิ์สูงสวมรัดเกล้ายอด ตัวนางที่มีศักดิ์รองลงมาสวมรัดเกล้าเปลว และนางกำนัลสวมกระบังหน้า
สำหรับเครื่องประดับศีรษะของผู้แสดงละครพันทาง จะสวมศิราภรณ์เลียนแบบเครื่องประดับศีรษะของชนชาติที่นำเรื่องมาแสดงละคร เช่น สวมเครื่องประดับศีรษะแบบจีน แบบพม่า แบบลาว ฯลฯ เป็นต้น

ชมแล้ว [ 8601 ] 14 ส.ค. 53 19:24 โดย ammmy


กลับหน้าบทความ